เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน ผู้สื่อข่าว "มติชน" รายงานจากหอประชุมอิลเชลฮันเล่ เมืองลินเดา สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีว่า สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงได้รับการทูลเกล้าถวายพระเกียรติให้ดำรงตำแหน่งวุฒิสภากิตติมศักดิ์ (สภาสูง) ของมูลนิธิการประชุมผู้ได้รับรางวัลโนเบล ในพิธีเปิดงานการประชุมผู้ได้รับรางวัลโนเบล ณ เมืองลินเดา ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 25 มิถุนายน - 5 กรกฎาคม ยังความปลาบปลื้มแก่พสกนิกรชาวไืทยเป็นล้นพ้น
นายวูล์ฟกัง เชอร์เลอร์ ประธานมูลนิธิการประชุมผู้ได้รับรางวัลโนเบล กล่าวว่า การที่มูลนิธิถวายพระเกียรติแด่สมเด็จพระเทพฯ ให้ดำรงตำแหน่งวุฒิสภากิตติมศักดิ์ของมูลนิธิการประชุมผู้ได้รับรางวัลโนเบล เนื่องจากพระองค์ทรงทำคุณประโยชน์อย่างเด่นชัดในการประชุมที่ลินเดา และแก่มูลนิธิ ทรงเสียสละและทุ่มเทให้กับงานทางด้านวิทยาศาสตร์ สนับสนุนการศึกษาวิทยาศาสตร์ เชื่อมโยงวิทยาศาสตร์และทำให้เกิดการบูรณาการ
จากนั้น สมเด็จพระเทพฯ มีพระราชดำรัสขอบคุณแก่มูลนิธิว่า "พวก เรายังมีภารกิจที่ยิ่งใหญ่ในการนำความรู้และการค้นพบทางวิทยาศาสตร์ไปใช้ให้ เกิดประโยชน์ต่อทุกคนอย่างกว้างขวาง ต้องร่วมมือกันหาวิธีการที่เหมาะสมในการยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้ด้อยโอกาส ในสังคม เนื่องจากสภาวะเศรษฐกิจ สังคม เชื้อชาติ หรือศาสนา ต้องร่วมมือกันหาวิธีในการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ซึ่งมีผลกระทบต่อทั้วโลกในปัจจุบัน การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวเกิดขึ้นเร็วมาก ทำให้เิกิดปัญหา และความท้าทายในประเด็นสำคัญของโลกหลายประการ เช่น ภาวะโลกร้อน โรคติดเชื้อที่อุบัติขึ้นใหม่ และประชากรสูงอายุเพิ่มขึ้น ประเด็นเหล่านี้เป็นเรื่องสำคัญที่มีผลต่อความมั่นคงของสังคมและมนุษยชาติ
เป้าหมายที่สำคัญ คือ การพัฒนาอย่างยั่งยืน ซึ่งต้องอาศัยองค์ความรู้และทักษะในหลายเรื่องประกอบกัน งานของเราจึงถูกกล่าวถึงว่าเป็นบูรณาการแบบองค์รวมในการพัฒนาอย่างยั่งยืน ซึ่งเป็นการสร้างความสามารถของประชากรในท้องถิ่นในเรื่องที่สำคัญ การประชุมครั้งนี้ถือเป็นโอกาสสำคัญที่จะทำให้นักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่ได้พบ กับนักวิทยาศาสตร์อาวุโสที่ได้รับรางวัลโนเบลอันทรงเกียรติ จะเป็นแรงกระตุ้นให้นักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่เกิดความมุมานะ และแรงบันดาลใจ พวกเขาเหล่านี้จะพัฒนาขึ้นเป็นนักวิทยาศาสตร์ที่มีความสามารถ และร่วมมือแก้ไขปัญหาสำคัญของโลก นักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่เหล่านี้จึงเป็นเสมือนอนาคตของเราและของโลก" สมเด็จพระเทพฯ ตรัส
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับการประชุมครั้งนี้จัดขึ้นพร้อมกัน 3 สาขา คือ เคมี ฟิสิกส์ และการแพทย์ มีนักวิทยาศาสตร์รุ่นเยาว์ไทยที่สมเด็จพระเทพฯ ทรงคัดเลือกด้วยพระองค์เอง ได้แก่ 1. นายสุธีรักษ์ ฤกษ์ดี นักศึกษาปริญญาโท-เอก ที่สหรัฐอเมริกา 2. น.ส.นิธิวดี ไืทยเจริญ นักศึกษาปริญญาโท สาขาฟิสิกส์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ 3. นายสิขริณญ์ อุปะละ นักศึกษาคณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล 4. นายสุรเชต หลิมกำเนิด อาจารย์ภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ 5. นายฉัตรชัย เหมือนประสาท อาจารย์ภาควิชาสรีระวิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล 6. นายวรพจน์ นิลรัตนกุล แพทย์ประจำบ้านปี 2 ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ
ที่มา: หนังสิอพิมพ์มติชนรายวัน ประจำวันจันทร์ที่ 28 มิถุนายน 2553 ปีที่ 33 ฉบับที่ 11797
เผยแพร่บนเว็บไซต์โดย ห้องสมุดพลังงานปรมาณู สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ